
มหัศจรรย์ไหมไทย: มรดกล้ำค่าจากพระราชชนนีพันปีหลวง
‘ผ้าไหมไทย’ มากกว่าความงามคือน้ำพระทัยของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
ด้วยสายพระเนตรที่ทรงมองเห็นความงดงามและคุณค่าในผ้าซิ่นไหมที่ชาวบ้านทอขึ้นมาเพื่อใช้ในชีวิตประจำวันที่มีเอกลักษณ์ประจำท้องถิ่นที่มีความแตกต่างกันออกไป ทำให้ทรงมีพระราชดำริว่า หากได้ส่งเสริมให้ชาวบ้านมีรายได้เสริมจากการทำงานที่ตนเองถนัดแล้ว ยังเป็นการอนุรักษ์ศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านให้คงอยู่ต่อไปได้พร้อมกัน โดยทรงเป็นผู้นำการใช้ผ้าไหมไทยมาตัดเย็บเป็นฉลองพระองค์เพื่อพระราชทานกำลังใจแก่ชาวบ้านและเป็นต้นแบบแก่สตรีไทย

ผ้ามัดหมี่คนยากจน สู่อาภรณ์พระราชินี
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ทรงโปรดฉลองพระองค์ผ้าไทยมาตั้งแต่ยังทรงเป็นพระคู่หมั้น เมื่อครั้งโดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ไปทรงเยี่ยมราษฎรผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่อำเภอนาหว้า จ.นครพนม พ.ศ. 2513 ทรงพบหญิงชาวบ้านนุ่งซิ่นไหมมัดหมี่มานั่งรอรับเสด็จ ซิ่นเหล่านั้นแม้จะดูเก่าคร่ำคร่า หากบ่งบอกถึงฝีมือการทอที่ละเอียดงดงาม
“ข้าพเจ้าจึงมีความคิดขึ้นมาว่า ทำไมเราไม่ขอให้เขาทอผ้ามัดหมี่ลายต่างๆ ที่เขาใส่มานั่งเฝ้าอยู่กับพื้นให้เป็นประโยชน์ ข้าพเจ้าบอกเขาว่าผ้าที่ใส่นี่สวยมาก ทอให้พระราชินีได้ไหม ชาวบ้านก็บอกว่าพระราชินีเอาไปทำอะไร เพราะว่าผ้าแบบนี้ที่คนเขาจะนุ่งจะห่มก็มีแต่คนยากจนเท่านั้น คนรับใช้ที่กรุงเทพฯ นั่นแหละเขาใส่กัน พระราชินีจะใส่ทำไม ข้าพเจ้าก็ตอบไปว่า ถ้าทอให้ พระราชินีจะใส่ตลอด”
พระราชดำรัสตอนหนึ่งของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ซึ่งพระราชทานเนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ วันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2547 ณ ศาลาดุสิดาลัย พระราชวังดุสิต ตรัสถึงที่มาของการโปรดเกล้าฯ ให้ก่อตั้งมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ในวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2519 เพื่อช่วยเหลือราษฎรให้มีรายได้เสริมจากงานที่ถนัดคุ้นเคย โดยพระราชทานเงินล่วงหน้าให้ช่างทอผ้าที่เข้าร่วมโครงการและนำผ้าไหมมาตัดเป็นฉลองพระองค์เพื่อเป็นกำลังใจให้แก่ชาวบ้าน ขณะเดียวกัน ก็เป็นการเผยแพร่ความงดงามของผ้าไหมไทยให้เป็นที่ประจักษ์แก่ชาวไทยและชาวโลก

พระมารดาแห่งไหมไทย
มีหลักฐานทางโบราณคดีนับย้อนไปถึงยุคก่อนประวัติศาสตร์ว่า พบเศษผ้าไหมติดอยู่กับกำไลสำริดที่โครงกระดูกของมนุษย์ในวัฒนธรรมบ้านเชียง จ.อุดรธานี (ประมาณ 4,300 ปีมาแล้ว) และเศษเส้นผ้าไหมอายุ 3,000 ปี ที่บ้านนาดี อำเภอหนองหาน จ.อุดรธานี
จากที่เคยปลูกหม่อน เลี้ยงไหม เพื่อนำเส้นใยมาทอผ้าใช้ในชีวิตประจำวันและพิธีกรรมในท้องถิ่น เริ่มมีการพัฒนาส่งเสริมอย่างจริงจังขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ในปี 2445 ทรงจ้างผู้เชี่ยวชาญจากญี่ปุ่นมาให้คำปรึกษาด้านการเลี้ยงไหม มีการจัดตั้งกรมช่างไหมขึ้นในกระทรวงเกษตราธิการ มีพระราชดำริให้สร้างโรงเรียนสอนการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมขึ้นในพระราชวังดุสิตและปทุมวัน เพื่อเผยแพร่ความรู้ด้านการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม สาวไหมให้แก่พนักงานคนไทยเพื่อสืบทอดองค์ความรู้ต่อไป
กระทั่งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ขึ้น ทรงมีพระราชดำริว่า สมควรจะมีหน่วยงานหลักที่จะรับผิดชอบดูแลการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม รักษาพันธุ์ไม้พื้นเมืองซึ่งมีเอกลักษณ์ของไทย การย้อมสีธรรมชาติ ตลอดจนสนับสนุนการทอผ้าไหมไว้อย่างครบวงจร
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงรวมหน่วยงานที่มีภารกิจด้านหม่อนไหม ขอพระราชทานชื่อว่า “สถาบันหม่อนไหมแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชีนีนาถ” เพื่อทำหน้าที่เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินงาน
ด้วยพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อเกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมในการส่งเสริมและพัฒนาองค์ความรู้ ทำให้งานด้านหม่อนไหมไทยเป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับไปทั่วโลก กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยพสกนิกรชาวไทยจึงพร้อมใจกันถวายพระสมัญญา “พระมารดาแห่งไหมไทย” แด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เป็นการเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษาในวันที่ 12 สิงหาคม 2555

ฉลองพระองค์ มรดกทางวัฒนธรรมล้ำค่า
จากภาพถ่ายที่เห็นว่างามแล้ว เมื่อได้ชมฉลองพระองค์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ที่นำมาจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ นั้นงามยิ่งไปกว่า อลิสา ใส่เศวตวารี ภัณฑารักษ์ กล่าวถึงเสียงสะท้อนจากผู้เข้าชมนิทรรศการ สิริราชพัสตรา บรมราชินีนาถ โดยเฉพาะคนรุ่นหลังที่โตไม่ทันได้เห็นพระราชกรณียกิจของพระองค์ในข่าวพระราชสำนักที่ทรงฉลองพระองค์ตัดเย็นด้วยผ้าไหมไทยและผ้าไทยในทุกครั้งที่ปรากฏพระองค์
ภัณฑารักษ์ กล่าวถึงนิทรรศการสิริราชพัสตราบรมราชินีนาถที่กำลังจัดแสดงอยู่ในขณะนี้ว่าเป็นนิทรรศการที่จัดขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565 เพื่อเผยแพร่พระราชกรณียกิจของสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงผ่านฉลองพระองค์ในทศวรรษต่างๆ โดยมีสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญาทรงเป็นประธานที่ปรึกษาและหัวหน้าภัณฑารักษ์
“สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงสืบสานพระปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ในการอนุรักษ์การทอผ้าของไทย ตลอดจนสนับสนุนการใช้ผ้าไทย ก่อให้เกิดโครงการผ้าไทยต่างๆ อีกมากมาย เช่น โครงการผ้าไทยใส่สนุก
“ทรงร่วมเป็นองค์ปาฐกในหัวข้อ The Evolution of Chud Thai and the Timeless Craft of Thai Textiles เกี่ยวกับประวัติศาสตร์การแต่งกายของไทยจนมาถึงชุดไทยพระราชนิยมทั้งแปดแบบ ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ทรงมีพระราชดำริให้ออกแบบขึ้นเพื่อให้เป็นชุดประจำชาติของคนไทยในนิทรรศการ Chud Thai Through the Ages: Weaving History, Craft, and Identity จัดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลอง 170 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-สหราชอาณาจักร ในงาน London Craft Week 2025 ณ สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงลอนดอน เมื่อวันที่ 12-18 พฤษภาคม 2568 ที่ผ่านมา”

แหล่งเรียนรู้เรื่องผ้าและประวัติศาสตร์เครื่องแต่งกายไทย
พิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ จัดตั้งขึ้นตามพระราชประสงค์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ที่ทรงมุ่งหวังให้เป็นแหล่งความรู้ที่ยั่งยืนเกี่ยวกับผ้าตลอดจนประวัติศาสตร์เครื่องแต่งกายของไทย
นอกจากนี้ พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ ยังเป็นสถานที่รวบรวมจัดเก็บรักษาผ้าไทย และเอกสารที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนดำเนินงานอนุรักษ์จัดทำทะเบียนวัตถุในครอบครองของพิพิธภัณฑ์

รักผ้าไหมจนได้เป็นทูตวัฒนธรรม จ.สุรินทร์
ก่อนหลงรักผ้าไหมสุรินทร์ คุณเสรี กันทาใจ ผู้ก่อตั้ง WTH Academy วิทยากรพัฒนาธุรกิจและที่ปรึกษาการปรับปรุงคุณภาพการบริการ กล่าวว่าเคยถูกหลอกให้ซื้อผ้าไหมทางออนไลน์ เขาจึงก่อตั้งกลุ่ม “รักไหมสุรินทร์” ในเฟซบุ๊กขึ้นมาเพื่อแบ่งปันและแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับผ้าไหมสุรินทร์
“มีความสนใจเรื่องผ้าแล้ว ก็เรื่องศิลปวัฒนธรรมเป็นพื้นเดิม พอมีโอกาสได้เจอได้สัมผัสได้รู้ที่มาว่ากว่าจะได้ผ้าไหมผืนหนึ่งมันต้องใช้พยายาม การรอคอยตั้งแต่การปลูกหม่อน เลี้ยงไหม เพื่อที่จะได้เส้นใยมาทอ ผ้าไหมที่สุรินทร์ยังใช้กระบวนการแบบเดิมที่สืบทอดกันมาไม่รู้กี่ร้อยปีมาแล้ว มีความประณีตพิถีพิถันทำมือในทุกขั้นตอนในทุกกระบวนการ เห็นแล้วรู้สึกถึงคุณค่าที่มากกว่ามูลค่า” เสรีกล่าว
ยิ่งเรียนรู้ก็ยิ่งรัก ทำให้เสรีจัดกิจกรรมเผยแพร่ความรู้ทางวัฒนธรรมด้วยการจัดทริปท่องเที่ยวเส้นทางสายไหมของสุรินทร์ รวมไปถึงนำผ้าไหมสุรินทร์มาใช้ในการแต่งกายในชีวิตประจำวันได้อย่างร่วมสมัย ทางสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยว จังหวัดสุรินทร์ จึงยกย่องให้ เสรี กันทาใจ เป็นทูตวัฒนธรรมสุรินทร์ ปี 2564

ความมหัศจรรย์ของผ้าไหมไทย
สองปีแล้วที่คุณวิชดา “ดาว” สีตกะลิน ได้เข้ามารับตำแหน่ง Creative Director กลุ่มธุรกิจสินค้าผ้าตกแต่งบ้านของจิม ทอมป์สัน แบรนด์ผ้าไหมไทยที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก
จากอินทีเรียร์ดีไซเนอร์ที่เคยโฟกัสเฉพาะในเรื่องของการเลือกใช้โทนสีของผ้าไหมในการออกแบบตกแต่งภายในเพื่อให้ตรงตามคอนเซ็ปต์ที่วางไว้ เมื่อได้เข้ามาเห็นกระบวนการผลิตผ้าไหมของจิม ทอมป์สัน ทำให้เกิดความเข้าใจในขั้นตอนการผลิตที่มีความซับซ้อนและมองเห็นคุณค่าของผ้าไหมที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น
“เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา มีการเชิญทีมของจิม ทอมป์สันจากออฟฟิศที่อเมริกา ลอนดอน มาเยี่ยมชมโรงงานจิม ทอมป์สัน ที่ อ.ปักธงชัย เมื่อได้เห็นว่ากว่าจะมาเป็นผ้าไหมแต่ละผืนว่าต้องผ่านขั้นตอนอะไรมา เขาบอกว่าเมื่อกลับไปแล้ว เขาสามารถบอกกับลูกค้าได้อย่างมั่นใจมากยิ่งขึ้นว่าทำไมผ้าไหมของเราจึงมีราคาสูง เพราะเขามองเห็นถึงคุณค่าที่อยู่ในผ้าแต่ละผืน เราฟังแล้วรู้สึกดีใจมาก ทำให้รู้สึกว่าผ้าไหมไทยเป็นมากกว่าซอฟต์เพาเวอร์อีกนะคะ ในฐานะที่เป็นดีไซเนอร์ เราก็ใช้วิธีทำงานสืบสานในส่วนของเรา อยากให้แต่ละคนช่วยกันคนละไม้คนละมือในการรักษาต่อยอดงานผ้าไหมไทยให้อยู่คู่กับคนไทยสืบไปค่ะ” คุณวิชดากล่าวปิดท้าย